วันพุธที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

สุรินทร์ พิศสุวรรณ ส่งมอบตำแหน่งเลขาธิการอาเซียนให้เวียดนามแล้ว


เลขาธิการอาเซียน
นายเล เลือง มินห์ (ซ้าย) - ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ (ขวา)

เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม

ขอขอบคุณภาพประกอบจาก asean.org
          สุรินทร์ พิศสุวรรณ ส่งมอบตำแหน่งเลขาธิการอาเซียนให้แก่ เล เลือง มินห์ อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศของเวียดนามอย่างเป็นทางการแล้ว หลังดำรงตำแหน่งครบ 5 ปีตามวาระ

          เว็บไซต์ asean.org ซึ่งเป็นเว็บไซต์หลักของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) รายงานว่า ในช่วงเช้าวันนี้ (9 มกราคม) ที่สำนักงานเลขาธิการอาเซียน กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย มีพิธีส่งมอบตำแหน่งเลขาธิการอาเซียนคนใหม่ จาก ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ เลขาธิการอาเซียนชาวไทยคนปัจจุบัน ที่ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ 1 มกราคม 2551 ไปสู่นายเล เลือง มินห์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศของเวียดนาม วัย 61 ปี อย่างเป็นทางการ นับว่าเป็นเลขาธิการอาเซียนชาวเวียดนามคนแรก

          ทั้งนี้ นายเล เลือง มินห์ จะดำรงตำแหน่ง 5 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2556 - 31 ธันวาคม 2560 โดยสื่อมวลชนต่างคาดว่า ในช่วงที่เลขาธิการชาวเวียดนามอยู่ในวาระ จะต้องเจอความท้าทายหลายอย่างอย่างแน่นอน ซึ่งงานยากที่สุดก็คงหนีไม่พ้น การนำ 10 ประเทศอาเซียน เข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ปี 2558 อย่างไร้ปัญหา รวมถึงปัญหากรณีพิพาทเรื่องทะเลจีนใต้ด้วย

          สำหรับประวัติ เล เลือง มินห์ ถือว่าเป็นผู้ที่เชี่ยวชาญในวงการทูตอย่างมาก เพราะจบการศึกษาจากสถาบันทางการทูตของเวียดนาม และจบมหาวิทยาลัย Jawaharlal Nehru University ที่อินเดียอีกด้วย นอกจากนี้ ตลอดระยะเวลาการทำงาน 38 ปี เคยดำรงตำแหน่งเป็นทูตเวียดนามประจำสหประชาชาติ, ประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ และรัฐมนตรีช่วยกระทรวงต่างประเทศเวียดนาม เป็นตำแหน่งสุดท้ายก่อนที่จะมาเป็นเลขาธิการอาเซียน

สพฐ. อัดงบพัฒนาโรงเรียนอาเซียน เตรียมเข้าสู่ AEC




เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ภาพประกอบไม่เกี่ยวข้องกับข้อมูล

          สพฐ. อัดงบเข้าโครงการโรงเรียนเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียน 5 โครงการ เน้นเรียนรู้ภาษาเพื่อนบ้าน โดยทาง สพท. จะเป็นผู้คัดโรงเรียนเข้าโครงการต่าง ๆ เอง
 
          เมื่อวานนี้ (22 พฤศจิกายน) นายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่า ทางสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้ให้งบประมาณแก่โรงเรียนในโครงการเตรียมความพร้อมสู่ประชาคมอาเซียน โดยแบ่งเป็นโครงการต่าง ๆ ดังนี้
 
           1. โรงเรียนซิสเตอร์ สคูล (Sister School) เป็นโรงเรียนที่เน้นการเรียนการสอนภาษาอังกฤษ บวกกับภาษาในประเทศอาเซียนอีก 1 ภาษา มีงบประมาณให้โรงเรียนละ 244,800 บาท, ค่าจ้างเจ้าหน้าที่ประจำศูนย์อาเซียนศึกษาคนละ 12,000 บาทต่อเดือน และครูสอนภาษาประเทศสมาชิกอาเซียนคนละ 8,400 บาทต่อคน ตั้งแต่เดือนตุลาคม พ.ศ. 2555 ถึง เดือนกันยายน พ.ศ. 2556 เป็นต้นไป นอกจากนี้ยังมีงบประมาณจัดกิจกรรมการเรียนรู้ภาษาเพื่อนบ้านอีกโรงเรียนละ 500,000 บาทด้วย
 
           2. โรงเรียนบัฟเฟอร์ สคูล (Buffer School) เป็นโรงเรียนเน้นการเรียนการสอนภาษาอังกฤษ เหมือนกับซิสเตอร์ สคูล ต่างกันตรงที่ ภาษาประเทศสมาชิกอาเซียน จะเรียนภาษาประเทศที่มีพรมแดนติดกับที่ตั้งของโรงเรียน ส่วนเรื่องงบประมาณที่ทาง สพฐ. จัดให้ เหมือนกับซิสเตอร์ สคูล
 
           3. โรงเรียนอาเซียน โฟกัส สคูล (ASEAN Focus School) มีจุดมุ่งหมายเพื่อรักษาสภาพศูนย์ จัดการเรียนรู้ในด้านประชาคมการเมือง ความมั่นคง เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม รวมถึงสิ่งแวดล้อมและภัยพิบัติด้วย โดยให้งบประมาณโรงเรียนละ 50,000 บาท
 
           4. โรงเรียนอาเซียน เลิร์นนิ่ง สคูล (ASEAN Lerning School) เป็นโรงเรียนที่ส่งเสริมพัฒนาศูนย์จัดการการเรียนรู้ด้านประชาคมการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม โดยมีงบประมาณโรงเรียนละ 50,000 บาท
 
           5. โรงเรียนคู่พัฒนาไทย - อินโดนีเซีย เป็นโรงเรียนที่จัดการเรียนรู้ด้านสิ่งแวดล้อม ค่านิยม ความเสมอภาคทางเพศ การเมือง เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม เพื่อเตรียมเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ได้งบประมาณโรงเรียนละ 50,000 บาท
 
          ทั้งนี้ โรงเรียนต่าง ๆ สามารถเข้าร่วมได้ 1-2 โครงการเท่านั้น ซึ่งทางสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) จะเป็นผู้คัดเลือกโรงเรียนเข้าโครงการตามความเหมาะสม

ต่างชาติมองไทยน่าลงทุนที่สุดในอาเซียน - ข้อเสียคือการเมือง




เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ภาพประกอบไม่เกี่ยวข้องกับข้อมูล

          โพล ชี้ ต่างชาติมองไทยน่าลงทุนที่สุดในอาเซียน ในปี 2556 นี้ เพราะมีทรัพยากรและนโยบายที่พร้อม แต่มีข้อเสีย คือ เสถียรภาพทางการเมืองและการทุจริตฉุดรั้งประเทศเอาไว้
 
          วันนี้ (9 มกราคม) นางสาวปุณฑรีก์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์วิจัยด้านนโยบายสาธารณะเพื่อกิจการอาเซียน สำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลวิจัยเรื่อง โอกาสและจุดแข็งของประเทศไทยต่อบรรยากาศการลงทุนในอาเซียน ปี 2556 ตามสายตาของชาวต่างชาติ โดยกลุ่มตัวอย่าง เป็นชาวต่างชาติที่มีความเข้าใจในประเทศไทย และประเทศอื่น ๆ ในอาเซียนอย่างน้อย 5 ประเทศ โดยผลการสำรวจกล่าวโดยสรุปเป็นดังนี้
 
          จากคำตอบของแบบสอบถาม นับ ได้ว่าประเทศไทยเป็นประเทศลำดับต้น ๆ ของอาเซียนที่ชาวต่างชาติมองเห็นโอกาสในการลงทุนปี 2556 เนื่องจากมีทรัพยากรที่พร้อมทั้งในด้านวัตถุดิบและกำลังคน มีนโยบายที่ดี เอื้อต่อการลงทุน แต่ข้อเสียของประเทศไทยที่สู้ประเทศอื่นในอาเซียนไม่ได้ คือ ความมีเสถียรภาพทางการเมืองและปัญหาการทุจริต
 
          เมื่อประเทศไทยไม่มีเสถียรภาพทางการเมือง ผลัดเปลี่ยนรัฐบาลบ่อย ๆ ทำให้นโยบายต่าง ๆ ที่วางไว้ไม่นิ่ง เป็นความเสี่ยงอย่างสูงตามสายตาของนักลงทุน ขณะที่ปัญหาการทุจริต หากประชาชนคนไทยไม่มีกำลังต้านมากพอ และปล่อยให้มีการทุจริตอย่างกว้างขวาง โอกาสที่ประเทศไทยจะพัฒนาไปไกลกว่าที่เป็นอยู่ก็คงเป็นไปได้ยาก
 
สำหรับผลของแบบสำรวจฉบับเต็ม มีดังนี้

 ประเทศที่เข้าถึงในวัตถุดิบการลงทุนได้ง่ายที่สุด?


          ประเทศไทย ร้อยละ 24.4
          ประเทศอินโดนีเซีย ร้อยละ 14.1
          ประเทศพม่า ร้อยละ 10.2
 
 ประเทศที่มีจำนวนแรงงานอย่างเพียงพอที่สุด?

          ประเทศไทย ร้อยละ 27
          ประเทศอินโดนีเซีย ร้อยละ 11.2
          ประเทศพม่า ร้อยละ 11.0
 
 ประเทศที่มีคุณภาพแรงงานดีที่สุด?

          ประเทศไทย ร้อยละ 25.2
          ประเทศสิงคโปร์ ร้อยละ 24.1
          ประเทศมาเลเซีย ร้อยละ 10.5
 
 ประเทศที่มีคุณภาพสาธารณูปโภคดีที่สุด?

          ประเทศสิงคโปร์ ร้อยละ 37.7
          ประเทศไทย ร้อยละ 20
          ประเทศบรูไน ร้อยละ 11.8
 
 ประเทศที่มีอาหารสะอาด ปลอดภัยที่สุด?

          ประเทศไทย ร้อยละ 30.5
          ประเทศสิงคโปร์ ร้อยละ 25.3
          ประเทศมาเลเซีย ร้อยละ 11.2
 
 ประเทศที่มีการส่งเสริมการลงทุนที่ดีและมีความน่าสนใจที่สุด?

          ประเทศไทย ร้อยละ 27.1
          ประเทศสิงคโปร์ ร้อยละ 21.6
          ประเทศมาเลเซีย ร้อยละ 9.9
 
 ประเทศที่มีคุณภาพชีวิตที่ดีที่สุด?

          ประเทศสิงคโปร์ ร้อยละ 30.6
          ประเทศไทย ร้อยละ 19.9
          ประเทศบรูไน ร้อยละ 11.4
 
 ประเทศที่มีโอกาสเจริญเติบโตในด้านเศรษฐกิจที่สุด?

          ประเทศไทย ร้อยละ 23.3
          ประเทศสิงคโปร์ ร้อยละ 15.1
          ประเทศเวียดนาม ร้อยละ 10.5
 
 ประเทศที่มีการส่งเสริมการท่องเที่ยวที่ดีและน่าสนใจที่สุด?

          ประเทศไทย ร้อยละ 36.5
          ประเทศสิงคโปร์ ร้อยละ 17
          ประเทศมาเลเซีย ร้อยละ 11.3
 
 ประเทศที่มีความมั่นคงทางการเมืองที่สุด?

          ประเทศสิงคโปร์ ร้อยละ 27.3
          ประเทศบรูไน ร้อยละ 18.4
          ประเทศมาเลเซีย ร้อยละ 11.6
 
 ประเทศที่ประชาชนท้องถิ่นมีมนุษยสัมพันธ์ที่สุด?

          ประเทศไทย ร้อยละ 33.4
          ประเทศสิงคโปร์ ร้อยละ 10.8
          ประเทศลาว ร้อยละ 9.5

ตะลึง! ผลวิจัย ชี้ คุณภาพการศึกษาไทยรั้งอันดับ 8 ในอาเซียน



อุดมศึกษาไทยตามหลังกัมพูชา อันดับ8ในเออีซี/สำนักพิมพ์ตำราPearsonตอกซ้ำรั้ง"กลุ่มบ๊วย" (ไทยโพสต์)

ภาพประกอบไม่เกี่ยวข้องกับข้อมูล

          "ภาวิช" ระบุคุณภาพการศึกษาไทยตกต่ำลงเรื่อย ๆ สถาบันวิจัยของสำนักพิมพ์ตำรา Pearson จัดอันดับการศึกษาของไทย อยู่ในกลุ่มสุดท้าย มีคะแนนต่ำที่สุด ระดับอุดมศึกษาแย่หนัก ถูกจัดอยู่อันดับ 8 ตามหลังกัมพูชาและฟิลิปปินส์ ยกย่องมาเลเซียเดินหน้าพัฒนาคุณภาพการศึกษาดีเยี่ยม

          เมื่อวานนี้ (26 ธันวาคม) สภาการศึกษา (สกศ.) จัดการประชุมระดมความเห็นเรื่อง "การพัฒนากรอบและทิศทางการวิจัยทางการศึกษาของประเทศ (พ.ศ.2555-2558) เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานตามนโยบายด้านการศึกษาของรัฐบาล" ซึ่ง ศ.(พิเศษ) ภาวิช ทองโรจน์ อดีตเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) ในฐานะที่ปรึกษา รมว.ศึกษาธิการ กล่าวบรรยายพิเศษเรื่อง "ยุทธศาสตร์การวิจัยเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาการศึกษาไทยตามนโยบายด้านการศึกษาของรัฐบาล" ตอนหนึ่งว่า ประเทศไทยถูกสะท้อนภาพคุณภาพการจัดการศึกษาที่ตกต่ำลงทุกปี อาทิ ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานของไทยจัดอยู่ในอันดับ 6 ของประเทศในกลุ่มอาเซียน โดยไทยตามหลังเวียดนาม ขณะที่ระดับอุดมศึกษาอยู่อันดับ 8 ซึ่งเป็นที่น่าตกใจว่าเราตามหลังกัมพูชาและฟิลิปปินส์ เป็นเรื่องที่ไม่อยากจะเชื่อ แต่ก็รับทราบข้อมูลไว้ก่อน ทั้งนี้ พบว่าการจัดอันดับของหน่วยงานอื่น ๆ ไทยก็ถูกจัดอันดับต่ำลงเรื่อย ๆ ขณะที่ประเทศมาเลเซียมีดัชนีที่ชัดเจนว่ากำลังก้าวเข้าสู่วิสัยทัศน์ที่ได้ประกาศไว้ว่า ปี ค.ศ.2020 มาเลเซียจะเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว

          ที่ปรึกษา รมว.ศธ.กล่าวอีกว่า สถาบันวิจัยของสำนักพิมพ์ตำรา Pearson จัดอันดับการศึกษาของไทยอยู่ในกลุ่มสุดท้าย ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีคะแนนต่ำที่สุด โดยสถาบันแห่งนี้ได้วิจัยและมีข้อสรุปว่าเงินทุนไม่ใช่ปัจจัยสำคัญที่สุดของการมีระบบการศึกษาที่ดี และการที่ครูอาจารย์มีเงินเดือนสูงก็ไม่ได้หมายความว่าจะมีความสามารถทางการสอนสูงตามไปด้วย สำหรับประเทศไทยในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เราผลักดันเรื่องเงินเดือนครู ซึ่งเป็นสิ่งที่ดี แต่เราก็ต้องเร่งรัดครูในเรื่องประสิทธิภาพในการสอนควบคู่กันไปด้วย

          ศ.(พิเศษ) ภาวิช กล่าวอีกว่า การจะแก้ไขปัญหาวิกฤติการศึกษาของชาตินั้น รัฐบาลนี้มีนโยบายที่จะปฏิรูปหลักสูตรและปฏิรูปครู โดยขณะนี้หลักสูตรขั้นพื้นฐานอยู่ในระหว่างการปรับรื้อ ส่วนการปฏิรูปครูนั้นจะต้องเร่งวางระบบการผลิตและพัฒนาที่ชัดเจน เนื่องจากที่ผ่านมาหน่วยงานต่าง ๆ ออกมาระบุเพียงว่า 10 ปีข้างหน้าจะมีครูที่เกษียณอายุราชการ 200,000 อัตรา แต่สถาบันการผลิตครูกลับไม่มีทิศทางที่ชัดเจนในการผลิตครู โดยพบว่าในปี 2555 มีอัตราว่างเพื่อบรรจุครู 1,500 อัตรา แต่มีผู้จบครูมาสมัคร 190,000 คน แสดงว่าเรามีคนที่มีใบประกอบวิชาชีพครูล่องลอยโดยไม่มีงานทำกว่า 200,000 คน ขณะที่สถาบันการผลิตรับนักศึกษาเฉลี่ยปีละ 50,000 คน และที่น่าตกใจมากกว่านั้นคือ ปี 2555 รับนักศึกษาปี 1 คณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ พุ่งสูงถึง 100,000 คน ดังนั้นในอีก 5 ปี เราจะมีบัณฑิตที่จบด้านครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ หลายแสนคน ซึ่งจะเป็นฝันร้ายของวงการศึกษาในอนาคตแน่นอน 

สรรพากร โกอินเตอร์! อนุมัติยื่นภาษีเงินได้เป็นภาษาอังกฤษ



เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ภาพประกอบไม่เกี่ยวข้องกับข้อมูล

          สรรพากร โกอินเตอร์! อนุมัติยื่นภาษีเงินได้เป็นภาษาอังกฤษ เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับผู้เสียภาษีชาวต่างประเทศ ที่เข้ามาทำงานในไทย เตรียมพร้อมรองรับปีอาเซียน

          เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2556 ดร.สาธิต รังคสิริ อธิบดีกรมสรรพากร เป็นประธานเปิดการสัมมนา "Guide to Personal Income Tax Return" ให้กับผู้เสียภาษีทั้งชาวไทย และชาวต่างชาติ เกี่ยวกับสิทธิประโยชน์และคำอธิบายวิธีการกรอกแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา  (ภ.ง.ด.90 และ ภ.ง.ด.91)  ฉบับภาษาอังกฤษ ของปีภาษี 2555 ที่ต้องยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษี ระหว่างวันที่ 1 มกราคม - 31 มีนาคม 2556  

          โดย อธิบดีกรมสรรพากร เผยว่า ทางกรมสรรพากรได้จัดทำแบบ ภ.ง.ด.90 และ ภ.ง.ด.91 เป็นภาษาอังกฤษ พร้อมคำอธิบายแนะนำวิธีการกรอกแบบเป็นภาษาอังกฤษเช่นกัน เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับผู้เสียภาษีทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ ที่ต้องเข้ามาทำงานในเมืองไทย ได้เข้าใจและสามารถยื่นแบบฟอร์มชำระภาษีได้ถูกต้อง และยังเป็นการเตรียมพร้อมรองรับการเคลื่อนย้ายแรงงานเสรีในอาเซียนอีกด้วย

เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม ประกาศเลื่อนเปิดเออีซีออกไปอีก 12 เดือน เป็นวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2558 แทน เหตุข้อตกลงหลาย ๆ อย่างยังไม่สามารถตกลงกันได้ เมื่อวานนี้ (11 ธันวาคม) มีรายงานว่า ในการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ครั้งที่ 21 ที่กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา ระหว่างวันที่ 18-20 พฤศจิกายนที่ผ่านมานั้น ทางผู้นำชาติอาเซียน มีการตัดสินใจประกาศเลื่อนกำหนดการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (Asean Economic Community) หรือเออีซี ออกไปอีก 12 เดือน จากเดิมต้องเปิดวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2558 เป็นเปิดวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2558 แทน สำหรับสาเหตุที่ต้องเลื่อนเปิดเออีซีออกไปนั้น เป็นเพราะข้อตกลงและขั้นตอนต่าง ๆ อีกหลายขั้นตอน ยังไม่สามารถตกลงกันได้ เช่น เรื่องการตรวจลงตรา ภาษีอาการสินค้า กฎระเบียบว่าด้วยการลงทุนระหว่างกัน เป็นต้น แม้ว่าการดำเนินการของประเทศต่าง ๆ ตามพิมพ์เขียว จะคืบหน้าไปพอสมควรแล้วก็ตาม นอกจากนี้ ผู้นำของบางประเทศ ก็ยังมีความกังวลอยู่ว่า หากเปิดเออีซี อาจจะทำให้ประเทศได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะเรื่องของปัญหาต่าง ๆ ที่มีลักษณะการข้ามชาติ (transnational problem) รวมถึงยังเหลือความท้าทายอีกหลายอย่างที่ต้องจัดการให้แล้วเสร็จก่อนเปิดเออีซี ดังนั้นผู้นำอาเซียนจึงเห็นพ้องต้องกันว่า ควรเลื่อนเปิดเออีซีออกไปก่อนจะดีที่สุด


พนิตา กำภู ณ อยุธยา

เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม

          กระทรวงศึกษาธิการ เตรียมชำระประวัติศาสตร์อาเซียนใหม่ม เพราะประวัติศาสตร์ต่างคนต่างเขียน ทำให้ดูไม่เป็นหนึ่งเดียว ทั้ง ๆ ที่อาเซียนกำลังจะเปิด AEC แล้ว
 
          เมื่อวานนี้ (19 พฤศจิกายน) นางพนิตา กำภู ณ อยุธยา ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยว่ากระทรวงศึกษาธิการกำลังเตรียมปฏิรูปหลักสูตรการศึกษาทุกระดับตั้งแต่อนุบาลไปจนถึงอุดมศึกษา โดยมีเงื่อนไขว่า ต้องเชื่อมโยงกับการพัฒนาครูด้วย ทั้งนี้ เนื้อหาที่หลักสูตรใหม่จะเน้นคือการทำหน้าที่พลเมือง คุณธรรม และจริยธรรม เพื่อทำให้เด็กเป็นคนดีของสังคมในอนาคต
 
          นางพนิตา กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม ก็มีเสียงเรียกร้องให้ทางกระทรวงปรับหลักสูตรเน้นการศึกษาวิชาประวัติศาสตร์มากขึ้นเช่นเดียวกัน เพื่อทำให้เด็กรู้จักรากเหง้าของตัวเอง ดังนั้นตอนนี้ตนจึงได้ปรึกษากับนายสหวัฒน์ แน่นหนา อธิบดีกรมศิลปากร ถึงการชำระประวัติศาตร์อาเซียนให้เป็นหนึ่งเดียว คาดว่าจะเน้นชำระประวัติศาสตร์ดินแดนสุวรรณภูมิ เริ่มที่อาณาจักรสิบสองปันนาก่อน
 
          นอกจากนี้ นางพนิตา ยังกล่าวอีกว่า สาเหตุที่ต้องชำระประวัติศาสตร์อาเซียน สืบเนื่องมาจากตอนนี้อาเซียนกำลังจะรวมกันเป็นหนึ่งเดียว จากการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน พ.ศ. 2558 แต่เท่าที่ผ่านมาประวัติศาสตร์ของแต่ละชาติต่างคนต่างเขียน จึงต้องปรับให้สอดคล้องกัน คาดว่าน่าจะเสร็จสิ้นภายในเดือนมิถุนายน ปีการศึกษา พ.ศ. 2556 ทว่าก็ต้องหารือกับสำนักงานคระกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ให้ตรวจสอบเนื้อหาให้เกิดความเหมาะสมอีกครั้ง

ประกาศเลื่อนเปิดประชาคมอาเซียน เป็น 31 ธ.ค. 58



อาเซียน

เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
 
          ประกาศเลื่อนเปิดเออีซีออกไปอีก 12 เดือน เป็นวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2558 แทน เหตุข้อตกลงหลาย ๆ อย่างยังไม่สามารถตกลงกันได้
 
          เมื่อวานนี้ (11 ธันวาคม) มีรายงานว่า ในการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ครั้งที่ 21 ที่กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา ระหว่างวันที่ 18-20 พฤศจิกายนที่ผ่านมานั้น ทางผู้นำชาติอาเซียน มีการตัดสินใจประกาศเลื่อนกำหนดการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (Asean Economic Community) หรือเออีซี ออกไปอีก 12 เดือน จากเดิมต้องเปิดวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2558 เป็นเปิดวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2558 แทน
 
          สำหรับสาเหตุที่ต้องเลื่อนเปิดเออีซีออกไปนั้น เป็นเพราะข้อตกลงและขั้นตอนต่าง ๆ อีกหลายขั้นตอน ยังไม่สามารถตกลงกันได้ เช่น เรื่องการตรวจลงตรา ภาษีอาการสินค้า กฎระเบียบว่าด้วยการลงทุนระหว่างกัน เป็นต้น แม้ว่าการดำเนินการของประเทศต่าง ๆ ตามพิมพ์เขียว จะคืบหน้าไปพอสมควรแล้วก็ตาม
 
          นอกจากนี้ ผู้นำของบางประเทศ ก็ยังมีความกังวลอยู่ว่า หากเปิดเออีซี อาจจะทำให้ประเทศได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะเรื่องของปัญหาต่าง ๆ ที่มีลักษณะการข้ามชาติ (transnational problem) รวมถึงยังเหลือความท้าทายอีกหลายอย่างที่ต้องจัดการให้แล้วเสร็จก่อนเปิดเออีซี ดังนั้นผู้นำอาเซียนจึงเห็นพ้องต้องกันว่า ควรเลื่อนเปิดเออีซีออกไปก่อนจะดีที่สุด

ผู้นำอาเซียน ร่วมลงนามปฏิญญาสิทธิมนุษยชน ที่กัมพูชา



เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
 
          ผู้นำอาเซียนลงนามปฏิญญาสิทธิมนุษยชน ฉบับแรก ในการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนครั้งที่ 21 ที่กัมพูชา
 
          วันนี้ (18 พฤศจิกายน) มีการประชุมสุดยอดสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ครั้งที่ 21 ที่ประเทศกัมพูชา เป็นวันแรก มีผู้นำ 10 ชาติสมาชิกเข้าร่วมประชุม ภายใต้หัวข้อหลัก "One Community, One Destiny" โดยมีฮุน เซน นายกรัฐมนตรีของกัมพูชาเป็นประธานการประชุม เนื่องจากในปีนี้ได้หมุนเวียนประธานมาที่ประเทศกัมพูชาพอดี และการประชุมครั้งนี้ถือว่าเป็นการประชุมครั้งที่ 2 ของปีแล้ว จากครั้งแรกประชุมเมื่อต้นปีที่ผ่านมาที่ประเทศกัมพูชา
 
          สำหรับหัวข้อการประชุมในครั้งนี้ มีประเด็นหลักคือ การตรวจความพร้อมของแต่ละประเทศก่อนเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ใน พ.ศ. 2558 รวมถึงการสร้างสันติภาพที่มั่นคง และการเสริมสร้างความร่วมมือทางการค้าระหว่างกลุ่มประเทศในอาเซียนกับคู่ค้า
 
          อย่างไรก็ตาม การประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนครั้งนี้ ไม่ได้มีการประชุมเฉพาะอาเซียนเพียงอย่างเดียว แต่มีผู้นำในประเทศอื่นที่เป็นประเทศคู่ค้าอาเซียนเข้ามาเจรจาด้วย อย่างสหรัฐอเมริกาและอินเดีย นอกจากนี้ยังมีกลุ่มประเทศในสมาชิก อาเซียน +3 (มีจีน เกาหลีใต้ และญี่ปุ่นเพิ่มมา) และกลุ่มประเทศ EAS (กลุ่มประเทศในเอเชียตะวันออก) เข้าร่วมประชุมเช่นกัน

          ล่าสุด ในช่วงบ่าย สำนักข่าวซินหัว ของทางการจีน ได้รายงานว่า ที่ประชุมผู้นำสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) จะลงนามปฏิญญาว่าด้วยสิทธิมนุษยชนฉบับแรกในการประชุมดังกล่าว แม้ว่าเอกสารที่ลงนามโดยผู้นำอาเซียนในวันแรกของการประชุมสุดยอดนี้ จะถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก เนื่องจากมีการเพิ่มมาตราที่ ฟิลิปปินส์ เสนอ ซึ่งระบุว่า ปฏิบัติตามปฏิญญาอาเซียน ตามมาตรฐานสากล แต่กลุ่มสิทธิแย้งปฏิญญาทั้งฉบับไม่ได้มาตรฐานสากล ก็ตาม

         ทั้งนี้ ดร.เกา คิม ฮอร์น รัฐมนตรีความร่วมมือระหว่างประเทศกัมพูชา แถลงว่า ทางสมาชิกได้หารือกันแล้ว และได้ตัดสินใจที่จะเพิ่มวรรคดังกล่าวเข้าไปในปฏิญญา ในขณะที่ นายฮอร์ นัมฮง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศกัมพูชา ระบุว่า แม้ปฏิญญาจะมีข้อบกพร่อง แต่ก็ยังถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี สำหรับสิทธิมนุษยชนของภูมิภาค

เล็งผุดทางด่วนเชื่อมเพื่อนบ้าน ตามแนวชายแดน 4 จุด รับอาเซียน


ทางด่วน

เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม

ภาพประกอบไม่เกี่ยวข้องกับข้อมูล

          กทพ. เตรียมสร้างทางด่วน บริเวณด่านตรวจคนเข้าเมืองตามแนวชายแดน 4 จุด ต้อนรับประชาคมอาเซียน ด้านทางด่วนในเชียงใหม่ และขอนแก่นจะเริ่มศึกษาในปีหน้า

          เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2555 นายอัยยณัฐ ถินอภัย ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เปิดเผยในโอกาสครบรอบ 40 ปี ว่า กทพ. เตรียมก่อสร้างทางพิเศษ (ทางด่วน) บริเวณด่านตรวจคนเข้าเมืองตามแนวชายแดน 4 จุด คือ แม่สอด แม่สาย มุกดาหาร และสะเดา เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชนที่ต้องการเดินทางเข้าออกประเทศมากขึ้น จากการร่วมประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC ที่จะเริ่มในปี 2558 โดยจะเริ่มศึกษาในปี 2556 และคาดว่าจะใช้ระยะเวลาศึกษาประมาณ 1 ปี ก่อนจะเสนอเรื่องเพื่อดำเนินการก่อสร้างต่อไป

          ทั้งนี้ กทพ. จะรวมการตรวจคนเข้าเมือง และขั้นตอนต่าง ๆ ไว้บนทางพิเศษทั้งหมด เพื่อให้ประชาชนผู้ใช้บริการสะดวกมากขึ้น ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวจะต้องหารือร่วมกับประเทศที่มีพรมแดนติดกัน เพราะจะมีเส้นทางบางส่วนที่ไปอยู่ในเขตแดนของประเทศเพื่อนบ้าน

          สำหรับทางด่วนในเชียงใหม่ และขอนแก่น ซึ่งเป็นจังหวัดใหญ่ที่มีประชากรอาศัยอยู่มากนั้น จะเริ่มศึกษาในปีหน้า โดยจะใช้เวลาศึกษา 1 ปี และคาดว่าจะสามารถก่อสร้างได้ในปี 2559

กทม. ผุด 7 ยุทธศาสตร์ พัฒนาข้าราชการรับ AEC



เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ภาพประกอบไม่เกี่ยวข้องกับข้อมูล

          กทม. ผุด 7 ยุทธศาสตร์ พัฒนาข้าราชการในด้านศักยภาพ คุณภาพชีวิต และความภาคภูมิใจ รองรับการเปิดเออีซี พ.ศ. 2558
 
          วันนี้ (14 ธันวาคม) นายหรรษารมย์ โกมุทผล ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาข้าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า ตอนนี้สถาบันฯ ได้จัดทำแผนพัฒนาข้าราชการกรุงเทพมหานครและบุคลากร เพื่อเป็นกรอบการพัฒนา พ.ศ. 2556-2559 โดยมีจุดประสงค์หลักคือ การพัฒนาข้าราชการให้มีความพร้อมด้านศักยภาพ คุณภาพชีวิต และความภาคภูมิใจ รองรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) พ.ศ. 2558
 
สำหรับยุทธศาสตร์หลักการพัฒนา มีอยู่ 7 ข้อ ดังนี้
 
           1. การเสริมสร้างค่านิยมร่วมมุ่งสู่วัฒนธรรมองค์กรที่ดี
           2. การสร้างวัฒนธรรมการเรียนรู้
           3. การพัฒนาภาวะผู้นำ
           4. การพัฒนาความสามารถทางการบริหารจัดการ
           5. การพัฒนาบุคลากรในการปฏิบัติงานตามสมรรถนะวิชาชีพ
           6. การพัฒนาบุคลากรที่มีศักยภาพสูง
           7. การพัฒนาคุณภาพชีวิต
 

          อย่างไรก็ตาม ใน พ.ศ. 2556-2559 ทางหน่วยงานจะพัฒนาบริการที่ดีที่สุดแก่ประชาชน ควบคู่ไปพร้อมกับการพัฒนาข้าราชการด้วย ซึ่งวิธีการจะเน้นไปที่ประเด็นเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติงานของข้าราชการ ให้ได้คุณภาพและมาตรฐานที่กำหนดไว้

งานมหกรรมแสดงสินค้าเทศกาลลอยกระทง ไชน่า-อาเซียน 2012



เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม

          ในวันที่ 23-29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555 ตั้งแต่เวลา 17.00-23.00 น. มีการจัดงานมหกรรมแสดงสินค้าเทศกาลลอยกระทง ไชน่า-อาเซียน 2012 ที่ กาแลไนท์บาร์ซาร์ ไนท์บาร์ซาร์ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ จัดโดยศูนย์ประสานงานสินค้าไทยภาคเหนือ ร่วมกับ บริษัท กาแลไนท์บาร์ซาร์ (จำกัด), กลุ่มทีซีซี แคปปิตอลแลนด์ และหน่วยงานภาครัฐและเอกชนอื่น ๆ

          โดยรายละเอียดภายในตัวงาน ประกอบด้วย กิจกรรมการแสดง และการจำหน่ายสินค้าหัตถกรรม อุตสาหกรรมอาหาร ของใช้ภายในบ้าน ตกแต่งบ้าน รวมถึงสินค้าไอที และผลิตภัณฑ์โอทอป จากกลุ่มประเทศ AEC กว่า 200 คูหา นอกจากนี้ ยังมีการประกวดเอาใจหนุ่ม ๆ คือการประกวดนางนพมาศนานาชาติอีกด้วย

          สำหรับวัตถุประสงค์การจัดงาน เพื่อส่งเสริมการตลาดแก่ธุรกิจระหว่างประเทศ ส่งเสริมวัฒนธรรมต่าง ๆ ของล้านนา และกลุ่มประเทศ AEC ให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น

ไปรษณีย์ไทย ออกแสตมป์ วันเด็ก 2556 รับอาเซียน


 แสตมป์ วันเด็ก 2556


เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม

            ไปรษณีย์ไทย ออกแสตมป์ วันเด็ก 2556 รับอาเซียน สอดคล้องกับคำขวัญนายกรัฐมนตรี พร้อมกับทำลายสถิติเป็นแสตมป์ที่ยาวที่สุดของประเทศไทย
            วันนี้ (3 มกราคม) นางปริษา ปานะนนท์ ผู้จัดการฝ่ายสื่อสารการตลาด บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด (ปณท.) เปิดเผยว่า วันเด็กแห่งชาติ พ.ศ. 2556 ทางไปรษณีย์ไทย ได้ทำแสตมป์ที่ระลึกเทศกาลวันเด็ก เกี่ยวกับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ที่จะเปิดใน พ.ศ. 2558 ซึ่งสอดคล้องกับคำขวัญวันเด็กของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีที่ว่า "รักษาวินัย ใฝ่เรียนรู้ เพิ่มพูนปัญญา นำพาไทยสู่อาเซียน"

            สำหรับรายละเอียดของแสตมป์ เป็นรูปตัวการ์ตูนเด็กชายเด็กหญิง แต่งกายด้วยชุดประจำชาติของสมาชิกอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ พร้อมด้วยธงชาติของประเทศต่าง ๆ เรียงตามลำดับตัวอักษรภาษาอังกฤษ ทำให้เป็นแสตมป์ที่ยาวที่สุดของไทยในรอบ 130 ปี ด้วยความยาว 124 มิลลิเมตร ลบสถิติเดิมคือ แสตมป์เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์เมื่อ พ.ศ. 2540 ที่มีความยาว 116 มิลลิเมตร อย่างไรก็ตาม แสตมป์ที่ยาวที่สุดในโลก คือแสตมป์ร่วมสองประเทศ ชุด 45 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตสิงคโปร์-อียิปต์ พ.ศ. 2554 มีความยาวถึง 160 มิลลิเมตร

            ทั้งนี้ แสตมป์วันเด็กปี 2556 จะวางขายวันที่ 12 มกราคม เป็นวันแรก ราคาดวงละ 5 บาท ซึ่งถ้าซื้อเต็มแผ่นก็ต้องซื้อ 5 ดวงด้วยกัน ส่วนซองวันแรกจำหน่ายที่ 13 บาท สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ฝ่ายตลาดตราไปรษณียากร หมายเลขโทรศัพท์ 0-2831-3853, 0-2831-3856

สภาพัฒน์ อัดงบ 10 ล้าน พัฒนาประเทศรับเออีซี



เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ภาพประกอบไม่เกี่ยวข้องกับข้อมูล

          สภาพัฒน์ อัดงบ 10 ล้าน พัฒนาประเทศ 4 ยุทธศาสตร์รับเออีซี พร้อมเผยรายชื่อ 10 โครงการที่สำคัญที่สุด

          วันนี้ (8 มกราคม) นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) เปิดเผยว่า จากการประชุมระหว่างสภาพัฒน์กับสำนักงบประมาณ และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ มีการเตรียมอัดงบประมาณกว่า 10.72 ล้านล้านบาท ลงทุนพัฒนาประเทศในโครงการต่าง ๆ ทั้งระยะสั้นและระยะยาว ทั้งหมด 4,664 โครงการ ก่อนเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน พ.ศ. 2558 โดยแบ่งเป็น 4 ยุทธศาสตร์ ดังนี้

           1. เพิ่มขีดความสามารถของการแข่งขัน เพื่อให้ประเทศหลุดพ้นจากคำว่า ประเทศรายได้ปานกลาง
          
 2. ลดความเหลื่อมล้ำในด้านรายได้
          
 3. ประเทศต้องเจริญเติบโตควบคู่ไปกับการเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
          
 4. การสร้างสมดุลและปรับระบบบริหารจัดการภายในภาครัฐ

          อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมยังไม่ได้อนุมัติเรื่องดังกล่าว เนื่องจากโครงการยังไม่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ ดังนั้นจึงขอให้แต่ละกระทรวง ไปคิดโครงการมาใหม่ ไม่เกินกระทรวงละ 10 โครงการ นอกจากนี้ สภาพัฒน์ยังจัดทำ 10 โครงการที่สำคัญที่สุดอีกด้วย ได้แก่

           1. จัดโซนนิ่งของประเทศ และพัฒนาเมืองที่มีศักยภาพในด้านต่าง ๆ เช่น ด้านเกษตรกรรม อุตสาหกรรม ท่องเที่ยว เป็นต้น
          
 2. พัฒนาอุตสาหกรรมในอนาคต และรักษาอุตสาหกรรมเดิมเอาไว้
          
 3. ส่งเสริมการทำธุรกิจแบบเอสเอ็มอีและโอท็อป
          
 4. ทำซอฟต์แวร์ เพื่ออำนวยความสะดวกในภาคบริการของประเทศ
          
 5. พัฒนาด่านชายแดนต่าง ๆ
          
 6. พัฒนาการคมนาคม เพื่อเชื่อมโยงประตูทางการค้า เช่น รถไฟความเร็วสูง รถไฟทางคู่ เป็นต้น
          
 7. ส่งเสริมการลงทุนในประเทศเพื่อนบ้าน
          
 8. ปรับปรุงกฎหมายให้ดึงดูดต่างประเทศมาลงทุนได้
          
 9. พัฒนาการศึกษาให้รองรับการเปิดเออีซี
          
 10. ปรับโครงสร้างระบบราชการ

กสิกรไทย คาด บริษัทไทยขนเงินลงทุนต่างชาติ 3 แสนล้าน รับเออีซี



เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม


          กสิกรไทย เผย นักลงทุนไทยแห่นำเงินไปลงทุนต่างชาติเตรียมรับมือการเปิดเออีซี ในปี 2558 และน่าจะเพิ่มขึ้นอีกกว่า 3 แสนล้านบาท ขณะที่ต่างชาตินำเงินเข้ามาลงทุนในไทยน้อยลงกว่าปีที่ผ่านมา

          ในวันนี้ (12 ธันวาคม 2555) นายเชาว์ เก่งชน กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด เผยว่า ในช่วง 8 เดือนที่ผ่านมา บริษัทไทยได้นำเงินไปลงทุนต่างประเทศแล้วประมาณ 8.2 พันล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 2.4 หมื่นล้านบาท และคาดว่า ทั้งปีน่าจะเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ 1 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือ 3 แสนล้านบาท ซึ่งสูงกว่าปีก่อนประมาณ 20% 

          อย่างไรก็ตาม บริษัทไทยได้นำเงินส่วนใหญ่ไปลงทุนในกลุ่มประเทศอาเซียน เตรียมรับมือกับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ เออีซี ในปี 2558 เนื่องจากกลุ่มนักลงทุนมองเห็นถึงโอกาสและช่องทางการเติบโตในธุรกิจกลุ่มดังกล่าว ซึ่งมีทั้งบริษัทขนาดเล็กและบริษัทขนาดใหญ่ และยังเป็นการปรับตัวเพื่อจะรับมือกับการเปิดเออีซีในอนาคต

          ทั้งนี้ หากพิจารณาเงินต่างประเทศที่เข้ามาลงทุนในไทย จะพบว่าบริษัทในไทยนำเงินไปลงทุนต่างชาติมากกว่าที่ต่างชาติจะนำเงินเข้ามาลงทุนในไทย โดยปีนี้มูลค่าเงินลงทุนต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในไทยลดลงกว่าปีก่อนถึง 1.8 พันดอลลาร์ หรือ 5.4 พันล้านบาท